“เงินบาทอ่อนค่า” ร่วงอ่อนค่าสุดรอบ16 ปี ที่ 37.10 บาทต่อดอลลาร์ เหตุกังวลเฟดกลับมาเร่งขึ้นดบ.
“เงินบาทอ่อนค่า” ทะลุแนว 37 บาทต่อดอลลาร์ โดยร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปี สูงสุดที่ 37.10 บาทต่อดอลลาร์ และต่ำสุดที่ 36.87 บาทต่อดอลลาร์ โดยปิดตลาดที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลง จากเปิดตลาดที่ 36.98 ดอลลาร์
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน “เงินบาทอ่อนค่า” เป็นอับดับ 4 ที่ 9.9% เทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค อันดับ 1 เยน (ญี่ปุ่น) อ่อนค่า 19.7% , อันดับ 2 วอน (เกาหลีใต้) อ่อนค่า -14.4% และ อันดับ 3 .เปโซ (ฟิลิปปินส์) อ่อนค่า -11.2 %
จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐ เพียงตัวเดียวที่ประกาศออกมาช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ (13 ก.ย. 2565) โดยเงินเฟ้อสหรัฐเดือน ส.ค.ยังพุ่งอยู่ที่ 8.3% ยังสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 8.1% ทำให้ “ตลาดมีความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย” กลับมาอีกครั้ง ที่ระดับ 0.75% หรือ 1% ในการประชุมเฟด 21-22 ก.ย.นี้
ปัจจัยดังกล่าวกดดันทุกตลาดต่างๆ ปรับตัวลงทันที ช่วงเข้าสู่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “ตลาดหุ้นทั่วโลก” โดยเฉพาะหุ้นเทคโนโลยีในสหรัฐปรับตัวลงอย่างหนัก กดดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลงตาม
รวมถึงยังกดดัน ราคาน้ำมันดิบ ดิ่งลง และ ราคาทอง ย่อตัวลงต่อเนื่อง จากการที่ “ตลาดมีความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มมากขึ้น”
ทั้งนี้ หากประมวลภาพการเคลื่อนไหวของ “ค่าเงินบาท” นับตั้งแต่ต้นปี 2565 มานี้ จะพบว่า “เงินบาท” มีการเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์
“พูน พานิชพิบูลย์” นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า สาเหตุหลักๆ ทำให้ “เงินบาทอ่อนค่า” นั้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ
1.การแข็งค่าอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ตามแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
2. แรงซื้อเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดผันผวน โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังที่ตลาดเริ่มกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนักและเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางได้